การประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 (เวที 20)
โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
"ร่วมคิด ร่วมเลือก ร่วมมองไกล ให้รอบด้าน" สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับ ม.อ. จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 ภายใต้โครงการการจัดทำ SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
.
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 4 (เวทีที่ 20) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นายสมนึก พรหมเขียว
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ร่วมเปิดการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับโครงการฯ อาทิ ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ และนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม รวมทั้งมี ผศ.ดร. นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าร่วมกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการขับเคลื่อน SEA ในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
.
โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ที่มีความสอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสการพัฒนาของพื้นที่ มีแนวทางการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมในการรองรับผลกระทบจากการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ได้แผนที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
.
โครงการนี้ได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทของจังหวัดสงขลาและปัตตานี จำนวนไม่น้อยกว่า 40 เวที โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 19 เวที ทั้งในจังหวัดสงขลาและปัตตานี มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประมาณ 1,700 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เป็นการจัดระดมความคิดเห็น เวทีที่ 20 ในจังหวัดสงขลา โดยจะเป็นเวทีที่นำเสนอผลการวิเคราะห์และผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากเวทีที่ 1 – 19 ซึ่งเป็นส่วนของการกำหนดขอบเขตตามขั้นตอนของ SEA และระดมความคิดเห็น เรื่อง เป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด และข้อมูลฐาน เพื่อนำไปจัดทำ (ร่าง) รายงานการกำหนดขอบเขต (ร่าง) ทางเลือกการพัฒนาที่เป็นไปได้ รวมทั้งนำไปกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ฯ ต่อไป
.
โดยการประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุม เป็นผู้แทนของผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 100 คน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายด้านการพัฒนา ได้แก่ ด้านการเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคม โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ รูปแบบการประชุมแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ (1) นำเสนอผลการกำหนดร่างเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัด (2) แบ่งกลุ่มย่อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดร่างเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และตัวชี้วัด(3) นำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาศักยภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ (4) แบ่งกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็น เรื่อง ทางเลือกการพัฒนาเบื้องต้น และ (5) สรุปผลการประชุมระดมความคิดเห็น
.
จากการระดมความคิดเห็นในวันนี้ พบว่า ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในแผนแม่บทฯ มี 4 เรื่อง ได้แก่ การยกระดับภาคเศรษฐกิจเดิมและสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างสร้างสรรค์ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การสร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสุข และการอนุรักษ์ พื้นฟู และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดควรมีจุดเน้นในแต่ละประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันออกไปตามศักยภาพของพื้นที่ โดยผลจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะนำไปจัดทำรายงานการกำหนดขอบเขต รวมทั้ง วิเคราะห์และพัฒนาทางเลือก ตามขั้นตอนของ SEA ต่อไป โดยที่ปรึกษาจะนำผลการวิเคราะห์กลับมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมอย่างเป็นทางการในเวทีต่อ ๆ ไปอีกกว่า 4 ครั้ง 20 เวที
ที่มา : สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (สมส.)