ประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (เวทีที่ 3-5)
โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (เวทีที่ 3-5) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 (เวทีที่ 3-5) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคาร LRC 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเปิดการประชุม รวมทั้งมีคณะกรรมกำกับโครงการฯ เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม การประชุมระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการจัด ครั้งที่ 2 เวทีที่ 3-5 จังหวัดสงขลา เพื่อระดมความคิดเห็นต่อกรอบอ้างอิงเชิงยุทธศาสตร์ ข้อมูลพื้นฐานและทุนทางทรัพยากร รวมทั้งการระบุประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายการพัฒนา และวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการระบุผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งสอดคล้องกับขั้นตอนการกำหนดขอบเขตของกระบวนการ SEA สำหรับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ทั้งนี้ ผลลัพธ์จะได้นำไปกำหนดแผนการสื่อสารและการมีส่วนร่วม รวมถึงการกำหนดวิสัยทัศน์และประเด็นการพัฒนาของแผนแม่บทฯ ให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้ง 3 เวที ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2566 จำนวนประมาณ 200 คน ประกอบด้วย (1) หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถาบันการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลองค์การบริหารส่วนตำบลที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่เป้าหมายทั้งในจังหวัดสงขลา และพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น (2) ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น (3) ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาศัยในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นต้น และ (4) สื่อมวลชน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รูปแบบการประชุมระดมความคิดเห็น ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอ ทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ข้อมูลพื้นฐานและทุนทางทรัพยากรของแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาระบบบริหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ และระดมความคิดเห็นในทิศทางการพัฒนา และข้อมูลและทุนทรัพยากรในพื้นที่ รวมทั้ง การระบุประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายการพัฒนา และวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอ ร่างกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบทบาทความเกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ โดย ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และระดมความคิดเห็นในเรื่องการระบุกลุ่มผู้ส่วนได้เสีย รวมทั้งบทบาทของแต่ละกลุ่มต่อแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี
ที่มา : สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (สมส.)