"สภาพัฒน์ฯ ร่วมกับ มอ. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 โครงการ SEA สงขลาและปัตตานี"สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ปรึกษาโครงการ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 (เวทีที่ 22 - 23) ภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี วันที่ 17 - 18 กรกฎาคม 2567 ณ ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมี ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดการประชุม สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 เพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาทางเลือกการพัฒนาที่จะสามารถนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็น จำนวน 6 เวที แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรก เวทีที่ 22 – 26 เป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อกิจกรรมการพัฒนา ซึ่งได้จัดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ไปเมื่อวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2567 สำหรับเวทีที่ 22 – 23 โดยมีผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประชาชนและชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคเอกชนและผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปกครองท้องที่ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ผู้นำศาสนา และหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง
สำหรับเวทีการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นเวทีที่ 22 - 23 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อกิจกรรมการพัฒนาที่เป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการกำหนดขอบเขตโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากที่ปรึกษาโครงการ มาร่วมรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ (มอ.) ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEA และนายอุสมาน หวังสนิ นักวิจัยประจำสถาบันสันติศึกษา (มอ.)
ผลจากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 5 นี้ จะได้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกิจกรรมการพัฒนาที่เป็นไปได้ และผลลัพธ์ของการพัฒนา (ฉากทัศน์) ของแต่ละทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์คาดการณ์และประเมินผลกระทบทางเลือกการพัฒนา เพื่อระบุทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสมของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ในขั้นตอนการประเมินทางเลือกสำหรับการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ต่อไป ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสภาพัฒน์ฯ Facebook: SEA สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาเเละปัตตานี หรือประสานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ที่มา : สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม (สมส.)